สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเพณีการแต่งงาน 4 ภาค สวยงามตามขนบธรรมเนียมไทย

(อ่าน 4448/ ตอบ 0)

warawee

ประเพณีการแต่งงานถือเป็นธรรมเนียมที่ดีงาม ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นพิธีทีช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตคู่สำหรับบ่าวสาวในการตัดสินใจครองคู่กันได้เป็นอย่างดี สำหรับพิธีแต่งงานในประเทศไทยนั้น มีการแบ่งออกตามภูมิภาคต่าง ๆ อย่าง ภาคเหนือ จะมีพิธีแต่งงานแบบล้านนา, ภาคอีสาน มีการจัดงานแต่งงานที่เรียกว่า กินดอง, ภาคใต้ มีพิธีแต่งงานแบบอิสลาม และภาคกลาง มีพิธีรดน้ำสังข์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละภูมิภาคก็จะมีขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ที่แตกต่างกัน วันนี้ จึงขอรวบความความรู้เกี่ยวกับงานแต่งงาน 4 ภาค มาให้ได้รู้กัน ส่วนแต่ละภาคจะมีขั้นตอนและพิธีการอย่างไรบ้างนั้น เราไปชมกันเลยจ้า


            ภาคเหนือ


            เริ่มกันที่พิธีแต่งงานของภาคเหนือ คือ แบบล้านนา หรือชาวเหนือเรียกว่า "ประเพณีการกินแขก" หมายถึง การเชิญผู้ที่เคารพนับถือ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้ามาร่วมรับประทานอาหาร เนื่องในวันงานมงคลสมรสหรืองานแต่งงาน ซึ่งอีกหนึ่งความหมาย คือ งานที่มีความใหญ่โต เชิญผู้คนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า งานกินแขก โดยมีลำดับขั้นตอน ดังนี้


             การแต่งงานแบบสู่ขอ : หลังจากที่ชายและหญิงมีความพึงพอใจกัน ฝ่ายชายจะต้องบอกพ่อแม่ และญาติพี่น้อง จัดการสู่ขอ และร่วมปรึกษาหารือระหว่างชายและหญิง หากไม่ขัดข้องก็ตกลงนัดวันหมั้นหมายพร้อมวันแต่งงาน


             พิธีการแต่งงาน : หลังจากที่ได้ฤกษ์ยามมาแล้ว ชายหญิงจะต้องบอกญาติพี่น้องและผู้ที่ให้ความเคารพให้มาร่วมงาน รวมทั้งจัด ขันปอกมือ หรือพานบายศรี และอาหาร สำหรับต้อนรับแขกและเครื่องสักการะในบายศรี เมื่อพร้อมแล้ว ญาติทางฝ่ายเจ้าสาวจะให้ผู้แทนถือขันข้าวตอกดอกไม้หรือพานดอกไม้ มาเชิญฝ่ายเจ้าบ่าวไปยังบ้านเจ้าสาว และฝ่ายเจ้าบ่าวพร้อมญาติผู้ใหญ่ก็จะตั้งขบวนแห่ไปยังบ้านเจ้าสาว ซึ่งในขบวนแห่จะประกอบด้วยดนตรีพื้นเมืองที่เน้นความสนุกสนาน มีเจ้าบ่าวถือดาบและหีบ ส่วนญาติถือสิ่งของที่เตรียมมาทั้งหมดนำหน้าขบวน พอถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะมีผู้แทนคอยปิดกั้นประตูไม่ให้เจ้าบ่าวเข้าไป ซึ่งจะมีการกั้นประตูโดยใช้สร้อยคอหรือเข็มขัดเงิน-ทอง บริเวณทางเข้าจะมีเด็ก ๆ ญาติฝ่ายเจ้าสาวมาตักน้ำล้างเท้าให้เจ้าบ่าว หรือทำเป็นเช็ดเท้าให้บ่าว ก่อนที่เจ้าบ่าวจะจ่ายเงินให้ตามสมควร


            จากนั้นญาติฝ่ายเจ้าสาวจะเชื้อเชิญญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวขึ้นมานั่งร่วมทำพิธี และจูงมือเจ้าบ่าวให้มานั่งเคียงข้างเจ้าสาว โดยให้หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา เอาขันปอกมือหรือพานบายศรีไว้ตรงกลาง แล้วให้เจ้าบ่าวเอาแหวนหรือสร้อยสวมใส่ให้แก่เจ้าสาว จากนั้นก็เชิญปู่อาจารย์ทำพิธีปัดเคราะห์เรียกขวัญเจ้าบ่าวเจ้าสาว ผูกมือ และกล่าวคำอวยพร ด้วยการทำ พิธีฮ้องขวัญ โดยปู่อาจารย์  ซึ่งคู่บ่าวสาวเข้าประจำโต๊ะพิธีการ หรือจุดพิธีการ โดยสวมมาลัยแล้วสวมมงคลคู่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว โดยมีแขกมาร่วมทำพิธีเป็นสักขีพยานและอวยพร ส่วนผู้ที่ทำการเรียกขวัญจะท่องคำล้านนาเป็นภาษาท้องถิ่นในทำนองโบราณ หลังจากที่ปู่อาจารย์ทำการเรียกขวัญเสร็จ แขกเหรื่อที่มาร่วมในงานจะอวยพรให้กับคู่บ่าวสาวโดยการผูกด้ายสายสิญจน์ 


            เมื่อเสร็จพิธีผูกข้อมือแล้ว จากนั้นเจ้าภาพจะเชิญคู่ของญาติผู้ใหญ่ หรือแขกอาวุโสที่มีชีวิตแต่งงานราบรื่นและเจริญรุ่งเรือง มีลูกหลานเต็มบ้าน ลูกหลานเหล่านั้นก็เจริญก้าวหน้ามีเกียรติปรากฏทั่วไป มาจูงเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าสู่ห้องหอตามฤกษ์               


             พิธีจูงเข้าหอ : เมื่อจูงมือเข้าห้องหอแล้วให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งบนเตียง หรือบนฟูกที่จัดตกแต่งไว้ ให้หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา ให้ทั้งสองหันหน้ามาหาผู้ใหญ่ที่จูงเข้าห้องเพื่อรับโอวาท สั่งสอนในการครองเรือน ให้รักทะนุถนอมรักษาน้ำใจ เสียสละซึ่งกันและกัน


             การไหว้พ่อแม่ : เมื่อหนุ่มสาวอยู่กินกันได้ 3 วัน หรือ 7 วันแล้ว จากนั้นจะพากันไป "ไหว้พ่อแม่" ตลอดถึงญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายโดยคู่สามี-ภรรยาใหม่ จะช่วยกันหาเครื่องสักการะอุปโภคและบริโภค เช่น เสื้อผ้า อาหารแห้ง ขนม ให้ครบบุคคลที่ตนจะไหว้ตามสมควร พร้อมทั้งมีพานดอกไม้ ธูปเทียน ไปเคารพกราบไว้ โดยมีความหมายว่า ไปคารวะฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกหลานในตระกูล และขอคำแนะนำในการครองเรือน ตลอดถึงการขอศีลขอพรจากผู้ใหญ่ให้เป็นสิริมงคล ซึ่งทางญาติผู้ใหญ่อาจเตรียมทุนไว้มอบให้ เพื่อสร้างครอบครัวตามฐานะของแต่ละท่าน เรียกว่า "เงินขวัญถุง"


             พิธีร่วมทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาว : สำหรับพิธีร่วมกันทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาวนั้น นิยมกระทำกันหลังจากทำพิธีรับไหว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว คือ เจ้าภาพจะนิมนต์พระมาสวดเจริญพุทธมนต์และรับอาหารบิณฑบาต พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์หรืออาสน์สงฆ์จัดให้อยู่ทางซ้ายของโต๊ะบูชา ให้คู่บ่าวสาวทำหน้าที่จุดธูปเทียนร่วมกัน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในงาน


             พิธีทำบุญสืบชะตา : การสืบชะตาของคู่บ่าวสาวนั้นเป็นเหมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทางล้านนามีความเชื่อว่า จะเป็นการดีเพื่อให้คู่บ่าวสาวมีชาตะที่ดียืนยาวและมีความสุขต่อไป ก่อนที่จะทำการสืบชะตา เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมเครื่องพิธีกรรมหรือเครื่องบูชาต่าง ๆ ไว้ โดยนำเครื่องพิธีกรรมมารวมกันตั้งไว้ตรงกลางที่ทำพิธี ทำเป็นกระโจมไม้ 3 ขา หรือทำเป็นสามสุ่มแบบปืน 3 กระบอก พิงกันหรือแบบขาหยั่ง ให้กว้างพอที่บ่าวสาวเข้ามานั่งตรงกลางได้ ใช้ด้ายสายสิญจน์โยงศีรษะติดกับ ขากระโจมทั้ง 3 ขา เอาเงื่อนไปไว้ที่ตรงน้ำพระพุทธมนต์หน้าพระพุทธรูป นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 7, 9 รูป และทำบุญถวายสังฆทาน ถวายเพล พร้อมกันทีเดียว



             ภาคอีสาน


             เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยเรียกพิธีแต่งงานตามภาษาอีสานเรียกว่า "การกินดอง" หมายถึง การกินเลี้ยงเพื่อฉลองการเกี่ยวดองเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้


              การสู่ขอ : หลังจากหนุ่มสาวมีความชอบพอกัน และตกลงที่จะอยู่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายบอกญาติผู้ใหญ่ของตนเอง ให้ไปสู่ขอฝ่ายหญิงจากญาติผู้ใหญ่ เรียกว่า การโอม


              พิธีแห่ขันหมาก : หลังจากที่มีการโอมสาว หรือการสู่ขอจากญาติผู้ใหญ่กันแล้ว หลังจากนั้นจะมีการตกลงค่าสินสอดทองหมั้น รวมทั้งต้องมีการกำหนดวันแต่งงานขึ้น ซึ่งหลังจากได้ฤกษ์วันแต่งงานมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเจ้าบ่าวและญาติ ๆ จะต้องแห่ขันหมาก เพื่อไปทำพิธีแต่งงานที่บ้านเจ้าสาว ซึ่งการแห่ขันหมากนี้เป็นเหมือนการประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่า คู่บ่าวสาวกำลังจะแต่งงานกัน พร้อมเชิญชวนให้มาร่วมแสดงความยินดี โดยมีลำดับของขบวนแห่จะเริ่มต้นหัวขบวนเรียงไปท้าย คือ ญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และเฒ่าแก่สู่ขอ จะเดินหน้าพร้อมถือขันเงินสินสอด ถัดจากนั้น คือ เจ้าบ่าว จากนั้น คือ ขบวนพาขวัญ ที่ถือโดยหญิงสาวบริสุทธิ์, ขันหมากพลู, ขันเหล้ายา, ญาติพี่น้อง และปิดท้ายด้วยขบวนดนตรีพื้นบ้าน ปี่ แคน และกลอง เป็นต้น


              วิธีการแห่ขันหมาก : เริ่มต้นด้วยเจ้าโคตรหรือเฒ่าแก่ จะเป็นผู้ถือขันสินสอดในการสู่ขอ โดยมีเจ้าบ่าวเดินตามมา หลังจากนั้นให้นำพาขวัญ, ขันหมาก และขันเหล้า ที่ใช้ให้หญิงสาวบริสุทธิ์ เป็นผู้ถือและเดินตามหลังเจ้าบ่าว เมื่อถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้วผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะออกมาต้อนรับ โดยก่อนที่เข้าบ้าน ญาติที่อายุน้อยกว่าฝ่ายหญิงจะเป็นคนล้างเท้าให้เจ้าบ่าว และเฒ่าแก่ที่ถือขันสินสอด โดยจะล้างเท้าบนหินลับมีดที่ปูด้วยใบตอง และช่วยเช็ดเท้าให้ เพื่อแสดงความเคารพ  ซึ่งก่อนจะพบกับเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะพบประตูเงิน ประตูทอง จากบรรดาญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงก่อน ซึ่งจะให้เบิกทางด้วยเงินทองตามสมควร หลังจากที่ฝ่ายประตูเงินประตูทองมาแล้ว เมื่อถึงฤกษ์ดีให้ฝ่ายชายมอบสินสอดให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง โดยฝ่ายเจ้าสาวจะต้องมีการนับสินสอด จากนั้นโปรยด้วยเมล็ดข้าวเปลือก ถั่ว และงาลงบนสินสอด แล้วขอพรให้เงินทองนี้งอกเงยเหมือนเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ด้วยเทอญ หลังจากนั้นจึงเปิดขันหมากละแจกเหล้ากินกันเป็น พิธี


              พิธีสู่ขวัญ : ให้เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าวนั่งอยู่ทางขวา และเจ้าสาวและเพื่อนเจ้าสาวนั่งอยู่ทางซ้าย จากนั้นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะจับพาขวัญไว้โดยใช้แขนไขว้กัน ซึ่ง “ประเพณีสู่ขวัญ” จะเริ่มต้นพิธีโดยหมอสูตรหรือพราหมณ์ชาวบ้านจะกล่าวคำสวดคำขวัญอวยพร เสร็จแล้วหมอสูตรจะป้อนไข่แบ่งให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกินคนละครึ่งใบ โดยใช้มือขวาป้อนไข่ท้าวหรือฝ่ายชาย และมือซ้ายป้อนไข่นางหรือฝ่ายเจ้าสาว เสร็จแล้วก็ใช้ฝ้ายผูกข้อมือของคู่บ่าวสาวพร้อมกับอวยพร


              การขอขมาญาติผู้ใหญ่ หรือการสมนา : เป็นการมอบสิ่งของเพื่อขอบคุณญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งแต่ก่อนจะเป็นการมอบผ้าซิ่นและเสื้อสำหรับผู้หญิงให้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิง และมอบผ้าโสร่งและเสื้อผู้ชาย ให้กับญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย หลังจากที่ได้รับของเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการให้โอวาทแก่บ่าวสาว เป็นอันเสร็จพิธี


              การปูที่นอน และการส่งตัวเข้าหอ : เริ่มต้นด้วยการให้คู่รักที่เป็นญาติผู้ใหญ่ที่มีฐานะดี และยังคงรักใคร่กันดี เป็นผู้ปูที่นอนให้บ่าวสาว โดยให้ปูของผู้ชายไว้ทางขาว ให้มีตำแหน่งสูงกว่า และของผู้หญิงปูไว้ทางซ้าย ให้มีตำแหน่งต่ำกว่าฝ่ายชาย แล้วทำพิธีนอนเอาฤกษ์ จากนั้นค่อยจูงเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าเรือนหอ และให้โอวาทในการอยู่ร่วมกัน เป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานตามขนบธรรมเนียมของภาคอีสาน



             ภาคใต้


             สำหรับพิธีแต่งงานในภาคใต้ของไทย จะมีความแตกต่างไปจากภาคอื่น ๆ เนื่องด้วยประชากรในภาคนี้ส่วนใหญ่มีการนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้พิธีแต่งงานมีขั้นตอนตามความเชื่อที่อ้างอิงไปตามศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวมุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลาม จะมีพิธีการจัดงานแต่งงานที่แตกต่างกับภาคอื่น ๆ  โดยชาวมุสลิมจะเรียกพิธีนี้ว่า "นิกะห์" ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสูงส่ง เหนือสัตว์โลกอื่น ๆ และเชื่อว่า ความผูกพันระหว่างชายหญิง จะเป็นความผูกพันด้วยชีวิต สำหรับเรื่องของการแต่งงายหรือการประกอบพิธีนิกะห์นั้น ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การแต่งงานตามบทบัญญัติของศาสนา และการแต่งงานตามประเพณีที่ปฏิบัติกัน


            สำหรับการแบ่งออกเป็น 2 ประเภทนั้น เพื่อให้มีความแตกต่างกัน เพราะการแต่งงานของชาวมุสลิม บางคนผสมผสานวัฒนธรรมชุมชนเข้าไป เช่น การแห่ เจ้าสาวเข้ามัสยิดโดยมีต้นกล้วยต้นน้ำอ้อยนำหน้าขบวน หรือการมีขนมหวานอย่างการแต่งงานแบบไทยนั้น เป็นการแต่งงานแบบของมุสลิมที่ไม่ใช่อิสลาม เพราะการแต่งงานแบอิสลามนั้น เป็นบทบัญญัติมากกว่า 1,400 ปี และห้ามเสริมเติมแต่งหลักการที่มีอยู่เป็นอย่างอื่น


             การสู่ขอ : ประเพณีการแต่งงานในศาสนาอิสลามเริ่มจากการสู่ขอ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องสู่ขอสตรีที่สามารถแต่งงานได้ด้วยเท่านั้น หมายถึงหญิงที่ไม่ได้อยู่ระหว่าง อิดดะฮ (อยู่ในช่วงสามเดือนแรกของการหย่าร้าง) หรือหญิงสามีตาย (ซึ่งต้องรอจนครบสี่เดือนกับสิบวันเสียก่อนจึงจะสู่ขอได้) เมื่อฝ่ายหญิงตอบตกลงและกำหนด “มะฮัร” คือเงินที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องหาวันแต่งงานตามสะดวก วันแต่งงานเจ้าบ่าวจะต้องยกของหมั้นหรือมะฮัรมาที่บ้านเจ้าสาว หรือนัดวะลีย์และพยานทั้งสองฝ่ายไปเจอกันที่มัสยิดก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดวันแต่งงาน เนื่องจากความเชื่อของศาสนาอิสลามไม่เชื่อในเรื่องโชคชะตา จึงไม่นิยมดูฤกษ์ยามก่อนแต่งงาน และมีข้อห้ามไม่ให้เชื่อเรื่องดวงดาวและโชคชะตาต่าง ๆ อีกด้วย ดังนั้น ชาวมุสลิมจึงไม่มีฤกษ์วันแต่งงาน นอกจากความสะดวกทั้งสองฝ่ายเท่านั้น


             คำกล่าวที่ใช้ในพิธีนิกะห์ : คำเสนอของวะลีย์ คือ คำกล่าวของผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวเพื่อให้เจ้าบ่าวยอมรับการแต่งงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นการตอบรับระหว่างชายหญิง หลังจากนั้นจะมีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน (บทที่ว่าด้วยการครองเรือน) ให้บ่าวสาวฟัง เพียงแค่นี้ก็เสร็จสมบูรณ์


             การเลี้ยงฉลองการแต่งงาน : หลังแต่งงานสามารถจัดงานเลี้ยงฉลองได้ เรียกว่า "วะลีมะฮ" ซึ่งจัดเลี้ยงที่บ้าน สโมสร หรือโรงแรมก็ได้ ตามสะดวก การเลี้ยงฉลองอาจไม่ต้องทำในวันเดียวกับวันนิกะห์ก็ได้ แต่การเลี้ยงฉลองนั้นต้องไม่เกิน 2 วัน เพราะอิสลามเคร่งครัดในเรื่องของงานเลี้ยงที่ฟุ่มเฟือย โดยมีคำกล่าวไว้ว่า "งานเลี้ยงที่เลวที่สุดคืองานเลี้ยงนิกะห์ และเลี้ยงเฉพาะคนรวย" เพราะศาสนาอิสลามเชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกันไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ 


            ภาคกลาง


            พิธีแต่งงานแบบไทยภาคกลาง ถือเป็นพิธีแต่งงานที่คุ้นเคยกันอยู่เป็นอย่างดี เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วความนิยมแต่งงานตามลำดับแบบภาคกลางกันอยู่แล้ว ซึ่งขึ้นตอนของพิธีการ ของพิธีแต่งงานแบบภาคกลาง จะเริ่มต้นจาก หนุ่มสาวคู่หนึ่ง ที่ตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน และพร้อมที่จะเข้าพิธีวิวาห์อย่างเป็นทางการ  จะต้องมีการตกลงสินสอด รวมถึงฤกษ์งานแต่งงาน ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตคู่ ซึ่งมีลำดับพิธีการตามแบบฉบับภาคกลางดังนี้  


             พิธีสงฆ์ : พิธีการแรกเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลในงานแต่งงานของคู่บ่าวสาว ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้วลำดับต่อไป คือ พิธีการแห่ขบวนขันหมาก


             พิธีการตั้งขบวนแห่ขันหมาก แห่ขันหมาก รับขันหมาก : ในปัจจุบันนิยมจัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งในวันเดียว ดังนั้น จึงมีการรวบรัดเอา ขันหมากหมั้น และ ขันหมากแต่ง เข้าไว้ด้วยกัน โดยจะที่มีทั้ง ขันหมากเอก และ ขันหมากโท และเมื่อตั้งขบวนขันหมากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่จะมีขบวนกลองยาวนำหน้าเพื่อสร้างความครึกครื้น โดยขั้นตอนนี้ต้องให้เจ้าสาวเตรียมตัวรอขันหมากบนบ้าน ส่วนเจ้าบ่าวก็จะไปบริเวณที่จัดขบวนขันหมากเตรียมตัวรอฤกษ์เคลื่อนขบวนมาบ้านเจ้าสาว จากนั้นขบวนขันหมากก็จะเตรียมตัวเข้าไปในบ้าน ซึ่งจะต้องผ่านด่าน พิธีกั้นประตูทั้ง 3 คือ ประตูนาก ประตูเงิน และประตูทอง โดยเจ้าบ่าวจะเตรียมซองไว้ เพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนขอผ่านประตู หลังจากนี้ถือเป็นพิธีการช่วงต่อไป


             พิธีสู่ขอและพิธีนับสินสอด : ขั้นตอนต่อไป คือ การนำของจากขบวนขันหมากมาจัดวางเรียงกัน จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะเริ่มการเจรจาสู่ขอ เมื่อตกลงยินยอมยกลูกสาวให้ ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานสินสอดออกมาเปิด เพื่อเข้าสู่พิธีนับสินสอด หลังจากนับสินสอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทอง ที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด แล้วเข้าสู่พิธีพิธีสวมแหวนหมั้น


             พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร : บ่าวสาวนั่งที่ตั่งเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งเจ้าสาวต้องนั่งด้านซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ ประธานในพิธีคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาว พร้อมกับเจิมที่หน้าผากมงคลแฝด จากนั้นประธานหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเชิญแขกอื่น ๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส


             พิธีรับไหว้ : หลังเสร็จพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรจะเป็น พิธีรับไหว้ หรือ พิธีไหว้ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวของคู่บ่าวสาว ด้วยการก้มกราบแล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้ผู้ใหญ่ ท่านจะรับไหว้และผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือคู่บ่าวสาว พร้อมกับให้พรและใส่ซองเงิน หรือของมีค่าอย่างอื่นลงบนพานให้ไว้เป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัว


             พิธีส่งตัวเข้าหอ : เป็นพิธีสำคัญในช่วงสุดท้าย โดยผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวมาส่งตัวเข้าหอ ซึ่งเจ้าบ่าวจะมารออยู่ที่ห้องหอก่อนแล้ว ส่วนสำคัญของพิธีนี้จะอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ที่จะมาทำพิธีปูที่นอน ก่อนที่จะพาเจ้าบ่าวเข้ามาในห้องหอแล้วเจิมหน้าผาก และนำตัวเจ้าสาวเข้ามา โดยที่เจ้าสาวจะต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของตัวเองเพื่อเป็นการขอพร และเมื่อเจ้าสาวเข้ามาในห้องแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นคนพามามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแลลูกสาวด้วย จากนั้นจะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ในขั้นตอนนี้ธรรมเนียมบางท้องถิ่นจะให้พ่อแม่เจ้าสาวเป็นผู้กล่าวก็สามารถทำได้เช่นกัน



             ถือเป็นความรู้อีกหนึ่งอย่างสำหรับขั้นตอนการจัดงานแต่งงาน  4 ภาคของไทย ทั้งนี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์การจัดงานแต่งงานเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว อีกหนึ่งอย่างก็เพื่อเป็นแนวทางของคู่บ่าวสาวมือใหม่ สำหรับการปฏิบัติที่ถูกต้องในวันวิวาห์ตามแต่ละภาคด้วยค่ะ 


Webboardแสดงความคิดเห็น
เยี่ยม   แย่   แย่   แย่   เขิน   หยอกล้อ  ตกใจ  ร้องไห้   สงสัย   ขอโทษ   หดหู่   อย่าน่ะ   ต่อว่า   โอเค
รูปภาพ
(นามสกุลไฟล์ควรเป็น [ jpg , jpeg , gif ] และไฟล์ไม่เกิน 3 MB.)
*ชื่อ
*สถานะ  
*อีเมล
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
*รหัสยืนยัน

หมายเหตุ : : กรุณากรอกข้อมูลที่มี * ทุกช่อง

view