การแต่งงานแบบล้านนา หรือทางภาคเหนือของไทยนั้นประเพณีนี้มีชื่อเรียกว่า การกินแขก เมื่อมีการสู่ขอและกำหนดวันหมั้นและเตรียมงานแล้ว ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องจัดเตรียม "ขันปอกมือ" หรือ พานบายศรี รวมถึงอาหารไว้ต้อนรับแขก โดยฝ่ายชายจะเป็นผู้เตรียมสิ่งของไว้สำหรับวันแต่งงาน ได้แก่ ดาบ 1 เล่ม ขันหมาก 1 สำรับ หีบใส่เงิน ผ้าห่มผืนใหม่ 1 ผืน เงินสินสอดทองหมั้น ส่วนเครื่องสักการะในบายศรีประกอบด้วย ข้าวเหนียวสุกปั้น ไข่ต้มสุกแกะเปลือก ขนมหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ด้ายมงคลสำหรับผูกข้อมือ
เมื่อถึงวันงาน ญาติเจ้าสาวจะถือขันข้าวตอก ดอกไม้ มาเชิญฝ่ายเจ้าบ่าวไปยังบ้านเจ้าสาว ซึ่งเจ้าบ่าวจะตั้งขบวนแห่มาพร้อมญาติผู้ใหญ่ เจ้าบ่าวถือดาบและหีบ ส่วนญาติถือสิ่งของอื่นที่เตรียมมา เมื่อมาถึงหน้าบ้านของเจ้าสาว จะมีผู้แทนถือสร้อยคอ เข็มขัดเงินหรือทองกั้นประตูไม่ให้เข้า เพื่อต่อรองและจ่ายเงินค่าผ่านประตู เมื่อมาถึงบันไดก่อนเข้าบ้าน จะมีเด็กๆซึ่งเป็นญาติเจ้าสาวนำน้ำมาล้างเท้า ให้เจ้าบ่าว เจ้าบ่าวจะต้องจ่ายเงินให้ก่อนที่จะเดินเข้าไป
จากนั้น ญาติฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว นั่งร่วมทำพิธีและจูงมือเจ้า บ่าวให้มานั่งข้างเจ้าสาว โดยเจ้าสาวนั่งซ้าย เจ้าบ่าวนั่งด้านขวา นำพานบายศรีไว้ตรงกลาง จากนั้นเจ้าบ่าวจะสวมแหวนหรือสร้อยให้แก่เจ้าสาว แล้วจึงเข้าพิธีผูกข้อมือและกล่าวคำอวยพร โดยพ่อแม่ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว พร้อมแขกผู้ใหญ่ ตลอดจนแขกที่มาร่วมในงาน ผูกข้อมือและอวยพรตามลำดับ
หลัง เสร็จพิธีผูกข้อมือแล้ว ญาติผู้ใหญ่ที่มีชีวิตคู่ที่ดีและมีความรุ่งเรืองจะเป็นผู้จูง เจ้าบ่าว เจ้าสาวเข้าห้องหอตามฤกษ์ โดยถือพานบายศรีนำหน้าก่อน แล้วตามด้วยแขกอาวุโสของฝ่ายหญิงที่จูงมือเจ้าสาว และแขกอาวุโสฝ่ายชายที่จูงมือเจ้าบ่าว ต่อด้วยผู้ถือถุงเงินและของขวัญ เมื่อจูงมือเข้าห้องหอแล้ว เจ้าบ่าว เจ้าสาวจะนั่งอยู่บนเตียง โดยฝ่ายหญิงนั่งซ้าย ฝ่ายชายนั่งขวา หันหน้ามาหาผู้ใหญ่ ที่จูงเข้าห้องเพื่อรับโอวาทใน การครองเรือน จากนั้นเจ้าสาวกราบฝากตัวกับเจ้าบ่าวโดยกราบตรงหน้าอก เจ้าบ่าวเอามือโอบกอดเจ้าสาวไว้ เป็นการรับว่ายินดีปกป้องคุ้มครองเจ้าสาวต่อไป เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการมงคลสมรสทั้งหมด
