ขั้นตอนหลักพิธีแต่งงานแบบจีน พิธีวันแต่งงาน ( The Chinese wedding tradition )
china |
ขั้นตอนหลักพิธีแต่งงานแบบจีน การสู่ขอจนถึงวันหมั้น
เมื่อถึงวันแต่งงานเจ้าบ่าวจะต้องเดินทางไปรับเจ้าสาวตามฤกษ์ เมื่อใกล้ถึงฤกษ์ ขณะที่เจ้าบ่าวกำลังเดินทางมาเจ้าสาวจะทานอาหารกับครอบครัวของตนเอง โดยในขบวนที่ร่วมเดินทางของเจ้าบ่าวเพื่อไปรับเจ้าสาวนั้น จะประกอบไปด้วยกลุ่มญาติที่เป็นชายล้วนๆ เจ้าบ่าวจะต้องเตรียมช่อดอกไม้ไปด้วย 1 ช่อ และนำปิ่นทองผูกติดกับกิ่งทับทิมสำหรับประดับผมมาด้วย โดยจะนำปิ่นทองหรือ "ยู่อี่" นี้มามอบให้กับแม่ของเจ้าสาว เพื่อนำปิ่นทองนี้มาประดับผมให้กับเจ้าสาว ที่สวมชุดแต่งงานและแต่งหน้าทำผมสวยงามรออยู่ในห้องด้านใน การทำเช่นนี้ถือเป็นการอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวโชคดี เมื่อถึงเวลาเจ้าบ่าวจะมารับตัว บางบ้านอาจมีการกั้นประตู ก็จะพบกับประตูเงิน ประตูทอง ตรงนี้เจ้าบ่าวจะต้องให้ "เล่าตั้ว" หรือพี่เลี้ยงของเจ้าบ่าวคอยจ่ายค่าผ่านทาง เพื่อเข้าไปหาเจ้าสาวที่อยู่ในห้อง เมื่อผ่านด่านทั้งหมดแล้ว เจ้าบ่าวจะนำช่อดอกไม้ที่เตรียมมามอบให้เจ้าสาว จากนั้นทั้งคู่ไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว และไหว้ อาม่า อากง ก่อนยกน้ำชาให้พ่อแม่เจ้าสาว ระหว่างพิธี บรรดาญาติมิตรจะมาร่วมรับประทานขนมบัวลอยรอเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ให้ออกมาร่วมรับประทานพร้อมกัน ในที่นี้การได้รับประทานบัวลอยจะหมายถึง การอวยพรให้ชีวิตคู่มีความกลมเกลียว จะทำสิ่งใดก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี เจ้าบ่าว เจ้าสาว ต้องทานขนมอี้ แต่ก็บางบ้านที่ตั้งโต๊ะให้คู่บ่าวสาวกินอาหารมงคล 10 อย่างก่อน จากนั้นพ่อส่งเจ้าสาวขึ้นรถไปกับเจ้าบ่าว โดยมีญาติผู้ชายของเจ้าสาว ถือตะเกียงเซฟ และกระเป๋าซึ่งบรรจุสมบัติส่วนตัวไปด้วย สำหรับญาติฝ่ายเจ้าสาวที่ตามมาส่ง เจ้าสาวถึงบ้านเจ้าบ่าว จะต้องเป็นกลุ่มผู้ชายล้วนเช่นกัน ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมตะเกียง ที่สำหรับจุดให้แสงแล้วนำมาให้ญาติที่เป็น ผู้ชายของฝ่ายหญิง เดินถือนำหน้าขบวนพาเจ้าสาวมาขึ้นรถ การจุดตะเกียงนี้หมายถึงให้ชีวิตคู่มีแต่ความสว่างไสว และถือเคล็ดว่าให้มีลูกชายเป็นผู้สืบสกุล พร้อมกันนี้ยังต้องจัดกระเป๋าสีแดง ภายในบรรจุทรัพย์สินเงินทองที่พ่อแม่เจ้า สาวจะให้เจ้าสาวได้นำติดตัวไปสร้างครอบครัว นอกจากนั้นฝ่ายเจ้าสาว ยังต้องเตรียมกาน้ำชาและชุดยกน้ำชาสำหรับพิธียกน้ำชา พร้อมด้วยเชิงเทียนสีแดง 1 คู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลมาด้วย เมื่อมาถึงบ้านเจ้าบ่าว ญาติหนุ่มฝ่ายเจ้าสาวจะนำตะเกียงไปวางไว้ในห้องหอและ จุดทิ้งไว้ข้ามคืน โดยฝ่ายเจ้าบ่าวต้องให้อั่งเปาซองใหญ่ กับผู้ที่นำตะเกียงมาเพราะถือว่าเป็นพิธีสำคัญ ปัจจุบันสามารถประยุกต์ใช้เป็นตะเกียงแบบเสียบปลั๊กแทน หลังจากนั้นจึงออกมาประกอบพิธีแต่งงานด้านนอก พิธีแต่งงานจะเริ่มจากการไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ รวมทั้ง ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว ไหว้พ่อแม่ เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันแล้ว ถัดมาจึงเป็นการยกน้ำชา หรือ "ขั่งเต๊" ให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว โดยทั้งสองต้องคุกเข่าลง พร้อมกับรินน้ำชาใส่ถ้วยวางลงบนถาดแล้วส่งให้ ผู้ใหญ่จะรับถ้วยชามาดื่มแล้วให้ศีลให้พร และเงินทองเพื่อเป็นทุนตั้งตัว เสร็จพิธียกน้ำชา คู่บ่าวสาวจึงกินขนมอี๊สีชมพูอีกครั้ง พิธีนี้จะทำในวันเดียวกันหรือจะทำอีกวันก็ได้ แต่ปัจจุบันนิยมทำพิธีให้จบในวันเดียว ฤกษ์เข้าหอ การปูเตียงต้องมีฤกษ์ เมื่อผู้ใหญ่ปูเสร็จต้องวางส้มไว้ที่มุมเตียง และอีก 4 ผล วางไว้ใส่จานที่มีตัวซังฮี้และใบทับทิมนำไปวางไว้กลางเตียง เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าสาวต้องยกน้ำล้างหน้าให้พ่อแม่สามีเป็นเวลา 3 วัน 7 วัน หรือ 15 วัน แล้วแต่ฤกษ์ จากนั้นญาติหนุ่มของฝ่ายเจ้าสาว จะมารับตัวเธอกลับไปเยี่ยมบ้านพร้อมกับเขยคนใหม่ที่ เรียกว่า “ตึ่งฉู่” เจ้าสาวต้องเตรียมส้ม 12 ผลใส่ถาดติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เมื่อไปถึงบ้านของฝ่ายเจ้าสาว ก็ต้องทำพิธียกน้ำชาให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวเช่นกัน ผู้ใหญ่ก็จะให้พรและมอบทรัพย์สินเพื่อเป็นของขวัญในการตั้งตัว จากนั้นจะมีงานเลี้ยงต้อนรับลูกเขย จึงเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานอย่างแท้จริง ขั้นตอนหลักพิธีแต่งงานแบบจีน การสู่ขอจนถึงวันหมั้น(Chinese engagement.) ขั้นตอนหลักพิธีแต่งงานแบบจีน การสู่ขอจนถึงวันหมั้น รายละเอียดและการปฏิบัติในพิธีแต่งงานแบบจีนนั้นมีอยู่มาก ซึ่งรายละเอียดทีนำมานี้เป็นพิธีแต่งงานแบบจีนแต้จิ๋ว ซึ่งหลักของพิธีอาจแตกต่างกันบ้างในบางขั้นตอน - เริ่มต้นด้วยการสู่ขอ ฝ่ายเจ้าบ่าวจัดหาซินแสผูกดวงกำหนดฤกษ์ยาม ตั้งแต่ ฤกษ์หมั้น ฤกษ์ตัดชุด ฤกษ์ปูเตียง ไปจนถึงฤกษ์รับตัวเจ้าสาว - ฝ่ายเจ้าบ่าวจัดเตรียมของหมั้น ได้แก่ เงินสินสอดทองหมั้น และต้องจัดเงินอั่งเปาซองแดงให้ อากง อาม่า ด้วย ทองหมั้นนิยมเป็นเครื่องประดับ 4 อย่างคือ สร้อย กำไล ต่างหู และแหวนยังมีเครื่องประกอบ เช่น ผลไม้ ชุดหมู ขนม และ ของเซ่นไหว้ 2 ชุด ผลไม้ที่นิยมใช้คือ ส้มเช้งเขียว กล้วยเขียวทั้งเครือ จะใช้จำนวนคู่ และติดตัวหนังสือ ซังฮี่ แปลว่า คู่ยินดี ไว้ทุกผลจัดเป็นเลขคู่จะ 44 ผล หรือ 84 ผล หรือร้อยกว่าผลก็ได้ ส่วนชุดหมูนั้นบางบ้านอาจเรียกเป็นชุดหมูสด เช่น ขาหมู ตับหมู กระเพาะหมูสดๆ หรือ ฝ่ายเจ้าบ่าวอาจนำเงินใส่ซอง หน้าซองเขียนว่า ใช้ซื้อขาหมู ซื้อกระเพาะหมูแทนก็ได้ แต่ของสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยนั้นคือ ขนมหมั้น หรือ ขนมขันหมาก หรือ ขนมแต่งงาน สุดแท้แต่จะเรียก เป็นขนมสีๆ จะใช้ 4 สี หรือ 5 สีก็ได้ สำหรับแจกให้กับเหล่าญาติ ได้แก่ จันอับ ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมเปี๊ยะโรยงา ถั่วตัด ข้าวพองทุบ โก๋อ่อน เสริมด้วยซาลาเปา พกท้อ และคุกกี้ พร้อมเงิน 4 ซอง ที่พ่อแม่ของเจ้าบ่าวจะต้องให้กับพ่อแม่ของเจ้าสาว เพื่อเป็นค่าตัวลูกสาว ซองแรกเป็นค่าน้ำนม ซองที่สองเป็นค่าเสื้อผ้า ซองที่สามเป็นค่าทำผม แต่งหน้า และ ซองที่สี่เป็นทุนตั้งตัว ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ของเจ้าสาวว่าจะคืนให้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวเอาไว้เริ่มต้นชีวิตคู่หรือไม่ ในวันงานของทั้งหมดที่กล่าวมาจะบรรจุไว้ในหาบ แล้วผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านครอบครัวและการงาน พร้อมดวงชะตาถูกโฉลกต้องกับคู่บ่าวสาว เป็นผู้หาบจากขบวนขันหมากเข้ามาในบริเวณงาน เมื่อเข้ามาถึง ผู้ที่หาบจะต้องใช้ไม้คานเขี่ยฝาหาบให้เปิดออก โดยห้ามใช้มือเปิดเด็ดขาด เพราะคนจีนถือว่าวันแห่ขันหมากเป็นวันแรง ถ้าหากหาบเป็นคนดวงอ่อน ก็จะทำให้เจอกับโชคร้าย จากนั้นจึงนำของในหาบมาวางเรียงกัน เพื่อแสดงต่อหน้าญาติๆ และสักขีพยานที่มาร่วมงาน - ฝ่ายเจ้าสาวจัดเตรียมของในพิธีหมั้น รวมไปถึงของเพื่อออกเรือนจะมีข้าวของเครื่องใช้มากมาย เริ่มจากเอี๊ยมแต่งงานซึ่งเป็นเอี๊ยมสีแดง ตรงอกเสื้อเอี๊ยมมีช่องกระเป๋าปักตัวอักษร "แป๊นี้ไล่เห่า" แปลว่า "อยู่กินกันจนแก่เฒ่า" ในกระเป๋าเอี๊ยมบรรจุห่อเมล็ดพืช 5 ชนิด มีความหมายว่าเจริญงอกงาม พร้อมต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวง 2 ต้น และปิ่นทองที่ทำเป็นลายภาษาจีนว่า "ยู่อี่" แปลว่า "สมปรารถนา" เสียบไว้ให้ปลายโผล่พ้นขอบกระเป๋าขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีเชือกแดงสำหรับผูกเอี๊ยม มีตัวหนังสือ "ซังฮี้" แปลว่า "คู่ยินดี" มีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเพชร ซึ่งจะมีมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าสาว ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าสาวยังต้องเตรียม กะละมังสีแดง 2 ใบ ถังน้ำสีแดง 2 ใบ กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ กระโถน 1 ใบ พร้อมกระจก กรรไกร ด้าย เข็ม ถาดสีแดง และของที่ต้องจัดเป็นจำนวนคู่ อย่าง ตะเกียบ ชุดน้ำชา พัดแดง สำหรับเจ้าสาวถือตอนส่งตัว นอกจากนี้ยังมีผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม 1 ผืน หมอน 1 ชุด ซึ่งจะมี 4 หรือ 5 ใบก็ได้ ประกอบไปด้วยหมอนข้าง 1 คู่ หมอนหนุนใบยาว 1 ใบ ซึ่งหมอนใบยาวนี้จะมีหรือไม่ก็ได้ แล้วสุดท้ายยังมี หวี อีก 4 เล่ม ที่เป็นเคล็ดมงคลตามภาษาจีนเขียนว่า "ซี้ซี้อู่หอซิว" หมายถึง "ทุกๆเวลาจะได้มีทรัพย์" - เมื่อถึงฤกษ์หมั้น ฝ่ายเจ้าบ่าวยกขบวนมามอบสินสอด ทองหมั้น และเครื่องขันหมากที่เตรียมมาให้ เจ้าบ่าวจะยกขันหมากมาที่บ้านเจ้าสาว มอบสินสอดทองหมั้น และเครื่องขันหมากที่เตรียมมาให้ ฝ่ายเจ้าสาวต้องเก็บขนมแต่งไว้ครึ่งหนึ่ง และส่งอีกครึ่งหนึ่งคืนให้ฝ่ายเจ้าบ่าว พร้อมส้มเช้งที่ติดตัวอักษร "ซังฮี่" จัดเป็นจำนวนผลคู่ กับเอี๊ยมแดงที่มีปิ่นทองเสียบอยู่ ในเช้าวันที่เจ้าบ่าวมารับตัวเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะนำปิ่นทองมามอบให้เจ้าสาวใช้ติดผมก่อนออกจากบ้าน นอกจากส้มเช้งแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะให้กล้วยทั้งเครือกับฝ่ายเจ้าบ่าวเพิ่มไปด้วย เพื่อเป็นเคล็ดว่าจะได้มีลูกหลานสืบสกุล จากนั้นสวมแหวนและเครื่องประดับให้เจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวเสร็จพิธี เจ้าบ่าว เจ้าสาว และแขกรับประทานขนมอี้ จากนั้นแบ่งขนมหมั้นให้กับญาติทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเครื่องขันหมากสำหรับหมั้นและสำหรับแต่งนิยมจัดหมือนกัน ดังนั้นในวันยกขันหมากอาจจะจัดให้มีพิธีหมั้นด้วยก็ได้ โดยมีธรรมเนียมว่าวันหมั้นฝ่ายเจ้าสาว เป็นผู้รับภาระเรื่องการเลี้ยงหมั้น แล้ววันเลี้ยงวันแต่งงานเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย ซึ่งข้อกำหนดนี้ปรับเปลี่ยนได้ตามฐานะของทั้งสองฝ่าย หลังจากพิธีหมั้น ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องนำของที่เจ้าสาวมอบให้ทั้งหมดยกเว้นกล้วย 1 เครือ นำมาวางไว้ที่หัวเตียงในห้องหอ และต้องนอนในห้องหอจนกว่าจะถึงวันแต่งงาน และไปรับเจ้าสาวมาอยู่ด้วยกัน เจ้าของเว็บไซต์ แก้ไขเมื่อ 16/08/2013 - 01:04 |
